วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แบบฝึกที่ 4

จังหวะตบที่ 1 ดีดลง จังหวะยกที่ 1 ดีดขึ้น
จังหวะตบที่ 2 ดีดลงพร้อมอุดสาย จังหวะยกที่ 2 ดีดลง1ที ดีดขึ้น1ที
จังหวะตบที่ 3 ดีดลง จังหวะยกที่ 3 ดีดขึ้น
จังหวะตบที่ 4 ดีดลงพร้อมอุดสาย จังหวะยกที่ 4 ดีดลง1ที ดีดขึ้น1ที


ดีดลงพร้อมอุดสาย คือ ดีดลงไป พร้อมกับใช้สันมือขวาวางทับลงบนสายกีต้าร์ทั้งหมด เพื่อทำให้เสียงที่ดีดสั้นลง
คอร์ด ที่ใช้ฝึกเราอาจเปลี่ยนเป็นคีย์อื่นก็ได้นะครับ เปลี่ยนเป็นคีย์ F หรือ คีย์ G ก็ได้ครับ

คีย์ C : C Am Dm F G

คีย์ F : F Dm Gm Bb C

คีย์ G : G Em Am C D

แบบฝึกนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เล่นกับเพลงแนวโฟล์คซองคันทรี่ตะวันตกได้ครับ ไม่ว่าจะเพลงช้าหรือเร็ว หรือใช้เล่นสลับกับแบบฝึกที่ 3 เป็นการเพิ่มสีสันในการเล่นคอร์ดครับ

สำหรับผู้ที่ตั้งใจว่าจะฝึกคอร์ดให้ชำนาญก่อนแล้วค่อยโซโลนั้น ผมขอเสนอแนะเกี่ยวกับการดีด หรือตีคอร์ดให้ได้ครบทุกเสียงในคอร์ด ทั้งเสียงเบส(ทุ้มสาย5 สาย6) เสียงกลาง(สาย4 สาย3) เสียงแหลม(สาย2 สาย1) กรณีที่เล่นกีต้าร์ตัวเดียวจะทำให้เสียงที่ได้การเล่นออกมาอย่างครบ ไม่ก๋องแก๋ง

เสียงเบสที่ของคอร์ดนั้นๆก็คือ โน้ตที่เป็นรากของคอร์ด เช่น คอร์ดC ประกอบด้วยโน้ต C E G หรือ โด มี ซอล รากของคอร์ดC ก็เท่ากับ Cหรือโด
















ผมขออนุญาตสรุปรากคอร์ด หรือเสียงเบสของแต่ละคอร์ดมาให้ฝึกเน้นกัน ดังนี้







คอร์ด/เบส


คอร์ดC/Cm=โด

คอร์ดD/Dm=เร
คอร์ดE/Em=มี

คอร์ดF/Fm=ฟา


คอร์ดG/Gm=ซอล


คอร์ดA/Am=ลา


คอร์ดB/Bm=ที








โน้ตบนคอกีต้าร์ก็เรียงตามนี้นะครับ อักษร C =โด D =เร E =มี F =ฟา G =ซอล A =ลา B =ที

ส่วนเฟร็ตที่ไม่ได้ใส่โน้ตไว้ ก็คือเป็นโน้ตครึ่งเสียงครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะอ้างอิงโน้ตตัวไหน อย่างเช่น สายที่ 1 เฟร็ตที่สอง ถ้าอ้างอิงเฟร็ตที่1(F) ก็จะเป็นโน้ตที่สูงขึ้นครึ่งเสียงคือ F# แต่ถ้าอ้างอิงเฟร็ตที่3(G) ก็จะเป็นโน้ตที่ต่ำลงครึ่งเสียงคือ Gb

หมายเหตุ** เครื่องหมาย # สูงขึ้นครึ่งเสียง เครื่องหมาย b ต่ำลงครึ่งเสียง

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แบบฝึกที่ 3

จังหวะตบที่ 1 ดีดลง จังหวะยกที่ 1 ดีดขึ้น
จังหวะตบที่ 2 ดีดลงพร้อมอุดสาย จังหวะยกที่ 2 ดีดขึ้น
จังหวะตบที่ 3 ดีดลง จังหวะยกที่ 3 ดีดขึ้น
จังหวะตบที่ 4 ดีดลงพร้อมอุดสาย จังหวะยกที่ 4 ดีดขึ้น



ดีดลงพร้อมอุดสาย คือ ดีดลงไป พร้อมกับใช้สันมือขวาวางทับลงบนสายกีต้าร์ทั้งหมด เพื่อทำให้เสียงที่ดีดสั้นลง

คอร์ดที่ใช้ฝึกเราอาจเปลี่ยนเป็นคีย์อื่นก็ได้นะครับ อย่างตอนแรกผมให้ฝึกคีย์ C ถ้าเบื่อแล้วก็อาจเปลี่ยนเป็นคีย์ F หรือ คีย์ G ก็ได้ครับ

คีย์ C : C Am Dm F G

คีย์ F : F Dm Gm Bb C

คีย์ G : G Em Am C D

แบบฝึกนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเพลงแนวโฟล์คซองคันทรี่ตะวันตกได้ครับ ไม่ว่าจะเพลงช้าหรือเร็ว

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แบบฝึกการตีคอร์ด

สำหรับน้องๆเพื่อนๆ
ที่ได้ฝึกเล่นคอร์ดในแบบฝึกที่ 1 ไปแล้ว
จะสังเกตุได้ว่าสามารถประยุกต์ใช้ในเพลงช้าได้
เพราะลักษณะการเล่นแบบนี้จะคล้ายกับการเคาะเปียโนในเพลงช้า


แบบฝึกที่ 2 :

จังหวะตบที่ 1 ดีดลง จังหวะยกที่ 1 -
จังหวะตบที่ 2 ดีดขึ้น จังหวะยกที่ 2 ดีดลง
จังหวะตบที่ 3 ดีดลง จังหวะยกที่ 3 -
จังหวะตบที่ 4 ดีดขึ้น จังหวะยกที่ 4 -



วิธีฝึก
ก็ควรฝึกแบบช้าๆก่อนนะครับเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมือซ้าย(จับ
คอร์)และมือขวา(ตีคอร์ด)ให้เล่นได้อย่างไม่ติดขัด จากนั้นค่อยเพิ่มความเร็ว
แบบฝึกนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในเพลงช้าและเพลงเร็วครับ

การอ่านตารางคอร์ดกีต้าร์และแบบฝึก

สำหรับน้องๆเพื่อนๆ ที่ได้เห็นตารางคอร์ดกันไปแล้ว บางทีอาจสงสัยว่าอ่านอย่างไร ก็ตามนี้เลยนะครับ

ส่วนน้องๆเพื่อนๆที่ลองฝึกลองจับกันไปบ้างแล้ว บางทีอาจยังสงสัยเกี่ยวกับการเล่น หรือตีคอร์ดว่าจะตีอย่างไรนั้น ผมก็มีวิธีฝึกตีคอร์ดมาฝากเอาแบบง่ายๆก่อน แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆนะครับ ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้กันว่าเพลงแต่ละเพลงจะถูกแบ่งออกเป็นห้องๆ(เหมือนบ้าน)ต่อๆกันหลายๆห้อง ไปจนกว่าจะจบเพลง เรามาเจาะดูแต่ละห้องกัน แต่ละห้องก็จะบรรจุตัวโน้ตของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง และบรรจุคอร์ดอย่างเหมาะสม บางห้องก็อาจจะมีคอร์ดเดียวเล่นไปจนจบห้อง บางห้องก็อาจจะมีหลายมากกว่า 1คอร์ด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้เรียบเรียงเพลงนั้นๆ

โดยส่วนใหญ่แล้ว 1ห้องเพลง จะมี 4จังหวะ คือมีจังหวะตกและขึ้น 4 ครั้ง

เราอาจจะใช้เท้าเคาะนับจังหวะ หรือถ้ามีงบ(ตังค์)ก็สามารถซื้อเครื่องช่วยนับจังหวะ(Metronome)มาใช้ ระหว่างที่ฝึก เพื่อความมั่นคงของจังหวะ ส่วนเรื่องของการดีด สามารถใช้นิ้ว หรือปิ๊คกีต้าร์ก็แล้วแต่ความถนัด หรือจะฝึกไว้ทั้งสองแบบก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด

วิธีฝึกที่ 1 ตีคอร์ดตามจังหวะตก อาจจะฝึกกับโครงสร้างคอร์ดง่ายๆแบ่งเป็นห้องละ 1คอร์ด

ฝึกนับช้าๆ เล่นช้าๆก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็ค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นนะครับ

การเล่นคอร์ดกีต้าร์

น้องๆเพื่อนๆก็คงเคยได้ยินคำว่า คอร์ด คอร์ดกีต้าร์ ตีคอร์ด กันมาบ้างแล้ว วันนี้ผมก็จะมากล่าวถึง การเล่นคอร์ดกีต้าร์ จริงๆแล้วเราสามารถเล่นคอร์ดได้กับเครื่องดนตรีทุกชนิดยกเว้นกลอง ไม่ว่าจะเป็น กีต้าร์ เปียโน คีย์บอร์ด เครื่องเป่า เครื่องสี เพราะจริงๆแล้ว คอร์ด ก็คือ การเสียงโน้ตให้มาผสมกัน สามเสียงขึ้นไป ในแต่ละสเกล(scale=บันไดเสียง) ไม่ว่าจะเป็น เมเจอร์(major) ไมเนอร์ (minor) ฯลฯ ให้เกิดกลุ่มเสียงสื่อถึงอารมณ์เพลงแบบต่างๆ เช่นอารมณ์เศร้า อารมณ์สุข อารมณ์สนุกสนาน ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับว่านักดนตรี จะนำคอร์ดเหล่านี้มาเรียบเรียงอย่างไร โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่านักดนตรี หรือผู้ที่สนใจด้านนี้ ควรทำความรู้จักและจดจำคอร์ดให้ได้ทุกคอร์ด แม้บางที่จริงๆแล้วเราก็อาจไม่ได้ใช้ทุกคอร์ด แต่ถ้าเราต้องไปร่วมงานกับนักร้อง เราก็จะต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของคีย์เพลง นักร้องแต่ละคนก็จะมีระดับเสียงแตกต่างกัน เราก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในส่วนนี้

ผมก็ขอสรุปเป็นตารางคอร์ดมาให้ดู ดังนี้ครับ

การจับคอร์ดกีต้าร์ ควรจับในลักษณะที่ สามารถดีดแล้วได้เสียงออกมาครบไม่ตกหล่นเสียงใดเสียงหนึ่ง ซึ่งผู้ฝึกใหม่ๆ ก็อาจจะมีอาการเจ็บนิ้ว และปวดมือบ้างก็อาจจะท้อใจ อย่างไรก็ค่อยๆฝึกกันไปครับ สักระยะหนึ่งมือและนิ้วเราก็จะแกร่งสามารถเล่นได้ทุกคอร์ดครับ มือกีต้าร์ต้องผ่านตรงนี้กันทุกคนเพื่องานศิลปะด้านเสียงเพลงที่เรารักนะ ครับ

หน้าตาและส่วนประกอบของกีต้าร์ทั่วไป



กีต้าร์ที่นิยมเล่นในปัจจุบัน ก็มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายแบบให้เลือกตามความต้องการและความเหมาะสม คงจะนำมาให้ดูได้ไม่ครบหมดทุกรุ่น จึงขอนำเอากีต้าร์ทั่วๆไปที่พบเห็นกันบ่อยๆมาให้ชม กีต้าร์แบ่งตามลักษณะได้2แบบคือ กีต้าร์โปร่งและกีต้าร์ไฟฟ้า
กีต้าร์โปร่ง ตัวกีต้าร์(body)จะมีโพรงเสียง สามารถเล่นได้เลย ซึ่งต่างจากกีต้าร์ไฟฟ้า จะไม่มีโพรงเสียง เวลาเล่นจึงต้องอาศัยอุปกรณ์พ่วงประเภทเครื่องขยายเสียง หรือแอมป์กีต้าร์ถึงจะได้ยินเสียง
---------------------------------------------

กีต้าร์โปร่ง

--------------------------------------------------

กีต้าร์ไฟฟ้า


ทักทาย

เล่นดนตรีชิวๆกับน้าเจตน์

สวัสดีครับ ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะครับ ว่าผมไม่ได้เป็นคนเล่นดนตรีได้เก่ง หรือพิสดารแต่อย่างใด เพียงแค่ชอบฟัง ชอบเล่นดนตรี ร้องเพลง รู้สึกเลยว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังหรือได้เล่นดนตรีจะมีความสุข และดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว ห้องดนตรีหน้านี้จึงขอกล่าวถึงดนตรีที่ผมเล่นและได้สัมผัสมา ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เพราะ ถ้าเป็นเรื่องของวิชาการหนักๆ คงต้องอ้างอิงถึงตำราวิชาการดนตรีเพื่อ ยึดเป็นมาตรฐานเดียวกัน

จะว่ากันไปแล้วเครื่องดนตรีที่ผมเคยสัมผัสอย่าง จริงๆจังๆ ก็มีอยู่สองชิ้นคือ คีย์บอร์ด และ กีต้าร์ เบสก็พอเล่นได้ระดับหนึ่ง ส่วนกลอง(กลองชุด)คงจะอีกนานถ้าจะต้องฝึกต้องเล่น

งั้นเรามาเริ่มกันที่เครื่องดนตรีที่ผมเล่นใน ปัจจุบันกันเลยดีกว่าครับ นั่นก็คือ กีต้าร์ เชื่อว่าคงมีน้อยคนนะครับที่จะไม่รู้จักกีต้าร์ เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะชอบเลือกที่จะเล่นกีต้าร์กัน จนมีเรื่องขำๆในหมู่นักดนตรีว่า เวลาตั้งวงดนตรีไม่ต้องห่วงเรื่องมือกีต้าร์ เพราะมีมากเหลือเกินแทบเดินชนกัน มือกลอง มือเบส เสียอีกที่กว่าจะหาได้ โดยส่วนตัวที่ผมเลือกเล่นกีต้าร์นั้นจริงๆแล้ว ก่อนหน้านั้นผมเล่นคีย์บอร์ดอยู่และคีย์บอร์ดก็จะต้องใช้ไฟฟ้า ทำให้สิ้นเดือนมีเสียงเตือนว่า ค่าไฟขึ้นอีกแล้วนะลูก ผมจึงเหลือบไปเห็นกีต้าร์โปร่งของพี่สาว วางพิงข้างฝาบ้านอยู่ด้วยความที่ชอบ เล่นดนตรี แต่ก็อยากช่วยคุณแม่ประหยัดค่าไฟ ก็เลยหยิบกีต้าร์ตัวนั้นขึ้นมาเล่น และเล่นมาจนถึงปัจจุบัน